พลาสติกที่นิยมนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท หนึ่งในนั้นก็คือ ไนลอน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับพลาสติกไนลอนให้มากขึ้นกัน ไปดูว่าพลาสติกไนลอนสามารถทำสินค้าอะไรได้บ้าง มีคุณสมบัติที่ดีและมีประโยชน์อย่างไรต่อการใช้งานในอุตสาหกรรม
พลาสติกไนลอน คืออะไร?
พลาสติกไนลอน (Nylon) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พอลิเอไมด์ (Polyamide : PA) จัดเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ ได้จากการกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชัน (Polymerization) ของเอไมด์และกรดอินทรีย์ มีการเพิ่มสารแต่งเติมประเภทกราไฟต์ และโมลิบเดนั่มไดซัลไฟต์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ดียิ่งขึ้น โดยพลาสติกไนลอนที่ถูกค้นพบเป็นชนิดแรกคือ Nylon 66 (PA66) ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1928 โดย Wallac H. Carothers นักเคมีชาวอเมริกัน ในยุคแรกๆ พลาสติกไนลอนถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตแปรงสีฟัน แต่ในปัจจุบันไนลอนเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
ประเภทของพลาสติกไนลอน (Polyamide : PA)
พลาสติกไนลอน แบ่งแยกย่อยได้หลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
- พลาสติกไนลอน 66 (PA66) : เป็นพลาสติกไนลอนที่ถูกค้นพบเป็นชนิดแรก และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมมากที่สุด เนื้อพลาสติกที่มีความแข็งแรงทนทาน ทนอุณหภูมิได้สูง ขึ้นรูปได้ง่าย เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี และราคาไม่สูง
- พลาสติกไนลอน 11 (PA11) : เป็นพลาสติกไนลอนที่อยู่ในตระกูล Polyamide ผลิตด้วยวิศวกรรมชีวภาพ โดยมีน้ำมันละหุ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิต ทนทานต่อแรงกดทับ ทนต่อสารเคมี น้ำมัน และดูดซับน้ำได้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพลาสติก PA ชนิดอื่น
- พลาสติกไนลอน 12 (PA12) : เป็นพลาสติกที่มีโครงสร้างเป็นแบบผสม (Semi-Crystalline) คุณสมบัติใกล้เคียงกับ พลาสติกไนลอน 11 ทนต่อการเสียดสีการแตกร้าวได้ดี และต้านทานคลื่นรังสีไฟฟ้าได้ดีด้วย
- พลาสติกไนลอน 46 (PA46) : เป็นพลาสติกไนลอนที่นิยมนำมาใช้ในงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทนต่อน้ำมัน และแรงกระแทก มีความต้านทานรังสีได้
- พลาสติกไนลอน 6-10 (PA 6-10) : เป็นพลาสติกมีโครงสร้างแบบผสม (Semi-crystalline polyamide) มีความแข็งแรง ทนต่อการเสียดสีและสารเคมีได้ดี ทนต่อรังสีพลังงานสูง เช่น รังสีแกมมา และรังสีเอกซ์ได้
คุณสมบัติเด่นของพลาสติกไนลอน (Polyamide : PA)
- เมื่อมีสภาพเป็นฟิล์ม จะมีลักษณะโปร่งใส แต่ถ้าหากนำมาทำการหล่อเพื่อขึ้นรูป (Cast nylon) จะมีลักษณะทึบแสง และเป็นสีขาว
- เป็นพลาสติกที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรสชาติ และไม่เป็นอันตราย
- เป็นพลาสติกที่มีความเหนียว แข็งแรงทนทาน ต้านทานแรงดึง และแรงฉีกขาดได้ดี
- เป็นพลาสติกที่ทนต่อการกัดกร่อนและการเสียดสี ไม่เสียรูปทรงง่ายเหมาะสำหรับงานรับแรงมากๆ
- เป็นพลาสติกที่ทนต่อการสึกหรอ ทนต่อแรงกระแทก บีบอัดและรอยขีดข่วน
- เป็นพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนต่อการบิด พับงอได้ดี
- เป็นพลาสติกที่ทนความร้อนสูงได้ดี ใช้งานได้ถึง 120 องศาเซลเซียส และยังมีจุดหลอมเหลวที่ 180 – 200 องศาเซลเซียส
- เป็นพลาสติกที่สามารถขึ้นรูปได้ง่าย ดูดซับความชื้นได้น้อย
- เป็นพลาสติกที่ป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจนและกลิ่นต่างๆ ได้ดี และป้องกันการซึมผ่านของไขมันได้ดีมาก
- เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงและการป้องกันการซึมผ่านของก๊าซลดลงเมื่อความชื้นเพิ่มขึ้น
พลาสติกไนลอนสามารถนำไปใช้ทำอะไรในอุตสาหกรรมได้บ้าง?
ด้วยคุณสมบัติเด่นของพลาสติกไนลอน ทำให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย เช่น
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ : ใช้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ท่อร้อยสายไฟ เคเบิ้ลแกลน สายเคเบิ้ลไทร์
- อุตสาหกรรมกีฬา : ใช้ผลิตอุปกรณ์กีฬา เช่น รองเท้ากีฬา เสื้อยืดกีฬา
- อุตสาหกรรมยานยนต์ : ใช้ผลิตอุปกรณ์รถยนต์ เช่น เข็มขัดนิรภัย ข้อต่อสายยางน้ำมัน ฝาครอบไฟฟ้าภายในรถยนต์
- อุตสาหกรรมอาหาร : ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร เช่น ถุงสุญญากาศ เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปอาหาร
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ : ใช้ผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เช่น เสื้อผ้า ผ้าม่าน
- อุตสาหกรรมอื่นๆ : ใช้ผลิตท่อน้ำ ท่อลม เครื่องพิมพ์ 3D
ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากพลาสติกชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ความยืดหยุ่น ทนทานต่อการฉีกขาด ทนทานต่อสภาวะอากาศ ทนทานต่อการกัดกร่อน รับแรงกระแทกได้ดีโดยไม่ทำให้เสียรูปทรง ที่สำคัญเป็นวัสดุที่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ปลอดสารเคมีไม่ก่อให้เกิดอันตรายในการใช้งาน ทำให้ไนลอนกลายเป็นวัสดุที่ถูกเลือกมาผลิตอุปกรณ์ต่างๆ อย่างแพร่หลาย